226 จำนวนผู้เข้าชม |
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจาก คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน และประธาน ผู้บริหาร กรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทยจีน ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ประเด็นพิเศษได้ให้ความสำคัญกับ สอง เรื่องด้วยกัน กล่าวคือ (1) การติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อ (2) โอกาสในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ได้มีการสำรวจถึงสองรอบ เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่ทันต่อเหตุการณ์มากที่สุด จนถึง 5 มีนาคม 2565 หลังจากที่สถานการณ์รัสเซียเข้าโจมตียูเครนเป็นไปอย่างตึงเครียด
(1) จากสถานการณ์เงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกและรวมถึงประเทศไทยที่ เงินเฟ้อเริ่มที่จะขยับตัวสูงขึ้น จากการสำรวจการเพิ่มขึ้นต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ หากเปรียบเทียบไตรมาสแรกของปี 2565 กับไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ผลการสำรวจเปิดเผยว่า ภาวะเงินเฟ้อได้กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก กล่าวคือ มากกว่าร้อยละ 78 ของผู้ประกอบการที่มีผลกระทบต่อต้นทุนมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป (ประมาณร้อยละ 52 ของผู้ประกอบการได้รับผลกระทบต้นทุนระหว่างร้อยละ 10-20) ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าร้อยละ 10 มีร้อยละ 22 เมื่อพิจารณาถึงการปรับราคาสินค้าจากการที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และประกอบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่ม ผลการสำรวจพบว่าประมาณร้อยละ 88 จะต้องปรับราคาขึ้น โดยร้อยละ 53.9 คิดว่าจะขึ้นราคาภายใน 3 เดือน และมีมากถึงร้อยละ 33.9 คิดว่าจะปรับราคาขึ้นภายใน 1 เดือน มีเพียงเล็กน้อยที่คิดจะปรับราคาขึ้นหลังจาก 3 เดือนไปแล้ว เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 49 คาดว่าเงินเฟ้อจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในปี 2556 ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ขณะที่ร้อยละ 19 ในสัดส่วนที่เท่ากัน ที่คาดว่าเงินเฟ้อน่าจะถึงจุดสูงที่สุดในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 กล่าวได้ว่าเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
(2) ส่วนโอกาสพลิกฟื้นของเศรษฐกิจไทยนั้น ได้มีการสำรวจทั้งประเด็นภายในประเทศและประเด็นจากต่างประเทศ
o ประเด็นในประเทศ ประกอบด้วย (ก) ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 69 ยังมีความกังวลที่คนไทยส่วนหนึ่งยังไม่เข้าถึงการบริการและการรับวัคซีนที่เพียงพอ จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และร้อยละ 51.7 ยังมีความกังวลต่อการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน แม้ว่ามีแนวโน้มว่าเป็นโรคประจำถิ่น (ข) ปัจจัยหลักจะทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นในปี 2565 คือการกลับมาของนักท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการลดลงของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โควิด-19 มีความสำคัญเป็นสามลำดับแรก อนึ่งเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว มาตรการ Test & Go ที่เริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม โดยให้มีแต่การตรวจด้วย RT-PCR และกักตัวระยะสั้น และตรวจซ้ำด้วยตัวเอง (ใช้วิธี ATK ในวันที่ 5 หลังจากมาถึงเมืองไทย) ได้รับคะแนนเห็นด้วยอย่างท่วมท้น 94.8 ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปัจจัยอีกสามลำดับต่อมาที่มีความสำคัญใกล้เคียงกันคือ มาตรการการเยียวยาและการลงทุนจากภาครัฐ การแก้ปัญหาหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และแนวโน้มการส่งออกที่ดี ขณะที่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาคการเมืองในประเทศมีความสำคัญไม่มากเท่า
o ส่วนประเด็นทางด้านต่างประเทศ มีทั้งปัจจัยบวกและลบดังนี้ (ก) ปัญหาหนี้สินของบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค ผู้ตอบการสำรวจร้อยละ 56.7 คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยพอประมาณ ขณะที่ร้อยละ 28.6 คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยมาก (ข) ตั้งแต่ ธันวาคม 2564 ได้มีการเดินรถไฟความเร็วสูงระหว่าง สปป ลาว และจีน พบว่าจะเป็นการเปิดโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย โดยร้อยละ 28.6 ของผู้ตอบการสำรวจคิดว่าจะเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับประเทศไทยในการส่งออกสินค้า และร้อยละ 39.3 คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ขณะที่หนึ่งในสี่ของผู้ตอบการสำรวจคิดว่าน่าจะมีโอกาสแต่ยังค้นหาอยู่ (ค) ความคิดเห็นต่อข้อตกลงการค้าเสรี RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่ได้เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2565 จากการสำรวจพบว่าธุรกิจอาหาร สินค้าเกษตร และธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับประโยชน์มากอย่างโดดเด่น และอีกสามธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์รองลงมาคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา ผู้ตอบการสำรวจยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการที่จะได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้สามารถทำได้ทันที ถึงร้อยละ 30.4 และสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงได้ในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ด้วยความเห็นร้อยละ17.4 และ 26.4 ของผู้ตอบการสำรวจตามลำดับ (ง) ปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าระวัง คือ สถานการณ์ความตึงเครียดของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่รบกันแล้ว ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 90 มีความกังวล โดยแบ่งเป็น ร้อยละ 53.9 ได้แสดงความกังวลมากว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และที่ร้อยละ 36.5 มีความกังวลปานกลาง
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวย้ำว่า เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 44.4 คาดว่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีนในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 จะดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวได้สะท้อนถึงการคาดคะเนการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนในไตรมาสหน้า ร้อยละ 49.4 คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนจะเพิ่มขึ้น และ ร้อยละ 30.9 ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน ส่วนการคาดคะเนการนำเข้านั้น ร้อยละ 51.1 คาดว่าการนำเข้าจากจีนจะเพิ่มสูงขึ้น และร้อยละ 30.3 การนำเข้าจะทรงตัว การสอบถามความคิดเห็น ด้านการลงทุนของจีนในไทย พบว่า ร้อยละ 43.8 การคาดคะเนระหว่างการลงทุนจากจีนจะเพิ่มขึ้น ในภาพรวมแล้วความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทยจีนยังดีอย่างต่อเนื่อง
การสำรวจการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน สรุปได้ว่าร้อยละ 13 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ร้อยละ 17.4 จะทรงๆ แต่ร้อยละ 63.5 คาดว่าจะชะลอตัวลง ทั้งนี้คาดว่าสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจไทย
ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีหน้า คือ ธุรกิจออนไลน์ พืชผลการเกษตร ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจท่องเที่ยว และการบริการสุขภาพ ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และที่ตามมาคือ อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และพืชผลการเกษตร ผู้ตอบแบบการสำรวจยังสนับสนุนให้มีการยืดหยุ่นมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาเพื่อสร้างรายได้ให้แก่การท่องเที่ยว ทำให้ภาคท่องเที่ยว ยังคงเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับการดูแลแก้ไขอย่างจริงจัง และรวดเร็ว
การคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน ร้อยละ 67.8 คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์น่าจะปรับตรวจลดลง ขณะที่ร้อยละ 14.8 คาดว่าดัชนียังคงอยู่ในระดับเดิม ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.7 ของผู้ตอบการสำรวจ คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาในไตรมาสหน้า
กล่าวโดยสรุปได้ว่าแม้ว่าความสัมพันธ์การค้า การลงทุน ระหว่างไทยจีนคาดว่าจะเดินหน้าอย่างราบรื่น ขณะที่ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งสถานการณ์เงินเฟ้อนั้นเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจส่งผลให้ต้นทุนราคาน้ำมันและวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยในระยะสั้นไตรมาสที่สองของปี 2565 น่าจะชะลอตัวอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก