ASIAN โชว์กำไรไตรมาส 3/2567 แจ่ม กำไรงวด 9 เดือนโต 232% พร้อมมั่นใจรักษากำไรขั้นต้นตามเป้า 17-18%

24 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ASIAN โชว์กำไรไตรมาส 3/2567 แจ่ม กำไรงวด 9 เดือนโต 232%  พร้อมมั่นใจรักษากำไรขั้นต้นตามเป้า 17-18%

‘บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น หรือ ASIAN’ เผยผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ทั้งรายได้และกำไรเติบโตแข็งแกร่ง 8.4% และ 51.1% ตามลำดับ ส่วนภาพรวมงวด 9 เดือน กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 232% ผลักดันโดยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ ทูน่า และอาหารทะเลแช่เยือกแข็งได้ พร้อมมั่นใจปีนี้อัตรากำไรขั้นต้นเข้าเป้า 17-18% โดย 9 เดือนทำได้ 18.5% ส่วนเป้ารายได้ปรับลงเล็กน้อยเป็น 10,200 ลบ. จากเดิม 10,500 ลบ. จากการหยุดการผลิตอาหารปลาตั้งแต่ไตรมาส 3

นายเอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง อาหารสัตว์น้ำ ทูน่า และอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้าและของบริษัท เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ว่า บริษัทฯ มีรายได้ 2,749 ล้านบาท เติบโต 8.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2,535 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าที่ 2,716 ล้านบาท โดยได้แรงหนุนหลักจากการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงซึ่งช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ ทูน่า และอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง

ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 235 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 51.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 156 ล้านบาท แม้จะลดลง 7.6% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 254 ล้านบาท ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเป็นผลจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นที่สูง อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้อยู่ที่ 17.1% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 15.6% ส่วนอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 8.5% และกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.29 บาท/หุ้น เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 0.19 บาท/หุ้น

“ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในไตรมาส 3/67 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการในตลาดหลักอย่างสหรัฐและยุโรปที่ฟื้นตัวจากการชะลอตัวก่อนหน้านี้ ในส่วนธุรกิจทูน่า มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากต้นทุนทูน่าที่ลดลง ขณะที่ธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง โดยเฉพาะหมึกแช่เยือกแข็ง เผชิญกับความต้องการลดลงในตลาดยุโรป อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ายังคงได้รับความนิยมในสหรัฐและยุโรป ส่วนธุรกิจอาหารสัตว์น้ำได้รับประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ลดลง เนื่องจากราคาวัตถุดิบหลัก เช่น ปลาป่น กากถั่วเหลือง และแป้งสาลี ลดลง แต่บริษัทยังคงมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันระยะยาว แม้ปริมาณกุ้งจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังมีความเสี่ยงจากสภาพอากาศและการระบาดของโรคในบางพื้นที่ ทำให้ราคากุ้งไตรมาสนี้ยังทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี” นายเอกกมล กล่าว

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปี 2567 มีรายได้รวม 8,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7,146 ล้านบาท โดยการเติบโตดังกล่าวมาจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ขยายตัวต่อเนื่อง แม้รายได้ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและทูน่าจะลดลง ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 735 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 232% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 222 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น 18.5% จากปีก่อนที่ 12.2% ขณะที่อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 9.1% เทียบกับ 3.1% ในช่วงเดียวกันปีก่อนส่วนกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.90 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 0.27 บาท/หุ้น

นายเอกกมล กล่าวต่อว่า บริษัทฯ คงเป้าหมายอัตรากำไรขั้นต้นปี 2567 ไว้ที่ 17-18% โดย 9 เดือนแรก สามารถทำได้ 18.5% อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ปรับลดเป้าหมายรายได้รวมปีนี้เล็กน้อยจาก 10,500 ล้านบาท เป็น 10,200 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 5,700 ล้านบาท ซึ่งได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 56,000 ตัน/ปี มาตั้งแต่ปลายปีก่อน ทำให้สามารถรองรับคำสั่งซื้อได้อย่างเต็มที่ แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่มพรีเมียม แต่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดสหรัฐและยุโรป นอกจากนี้ อาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้แบรนด์บริษัทที่จำหน่ายทั้งในประเทศและจีนยังเผชิญการแข่งขันที่สูง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ก็ยังคงขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านออนไลน์และโมเดิร์นเทรดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงตลาด

ส่วนธุรกิจทูน่าคาดว่าจะมีรายได้ราว 800 ล้านบาทในปีนี้ โดยบริษัทมุ่งเน้นเลือกรับคำสั่งซื้อที่สอดคล้องกับนโยบายอัตรากำไรของบริษัท แม้ยอดขายทูน่าคาดว่าจะลดลง 24% จากปีก่อน แต่ตะวันออกกลางยังคงเป็นตลาดหลัก ด้วยความนิยมในผลิตภัณฑ์ทูน่าและกำลังซื้อที่มั่นคง แม้เผชิญกับความผันผวนของราคาทูน่า บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวัตถุดิบและต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาอัตรากำไรขั้นต้น

ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำในปีนี้ ปรับเป้ารายได้ลงเป็น 800 ล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 1,100 ล้านบาท เนื่องจากหยุดผลิตและขายอาหารปลาตั้งแต่ไตรมาส 3 รวมถึงผลผลิตกุ้งที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และเพื่อรับมือกับความท้าทายจากตลาดที่เปลี่ยนแปลง บริษัทฯ วางกลยุทธ์เน้นการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเข้มงวดการให้สินเชื่อและการเร่งรัดหนี้สิน เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ท้าทาย

ธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ยังคงเป้ารายได้ปีนี้ไว้ที่ 2,900 ล้านบาท แม้ว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีปริมาณการขายที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในตลาดยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักสำหรับหมึกแช่เยือกแข็งตลาดหลักของธุรกิจนี้ยังคงประกอบด้วยสหรัฐ อิตาลี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยบริษัทฯ คาดว่าปริมาณการขายและรายได้ในปีนี้จะลดลงจากปีก่อน ด้วยปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการแข่งขันทางการค้า และสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน ถือเป็นความเสี่ยงทำให้ฟื้นตัวไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทใช้งบลงทุนทั้งหมดไปแล้ว 245 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่วางแผนไว้ 535 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากการขยับแผนการลงทุนโครงการคลังสินค้าอัตโนมัติหลังที่ 2 ไปดำเนินการช่วงต้นปี 2568 แทน โดยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงใช้ไปแล้ว 172 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอาหารสัตว์น้ำใช้ไปแล้ว 44 ล้านบาท ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรที่ใช้ผลิตอาหารกุ้งและเพิ่มอุปกรณ์ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ด ส่วนธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งดำเนินการไปแล้ว 29 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้