รมว.ธรรมนัส เปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยกระดับอาชีพแก้ปัญหาภาคเกษตรพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการครบวงจร

146 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รมว.ธรรมนัส เปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยกระดับอาชีพแก้ปัญหาภาคเกษตรพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการครบวงจร

“รมว.ธรรมนัส” เปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระดับประเทศ เพื่อแสดงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มุ่งส่งเสริมยกระดับภาคเกษตรทั่วประเทศ จัดกิจกรรมออกบูธให้บริการ-คำปรึกษา-แก้ไขปัญหาด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการทางการเกษตรครบวงจร


ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นประธานเปิดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระดับประเทศ โดยมี นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และประชาชนชนแม่ฮ่องสอน ร่วมแสดงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ ตำบลผาป่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่งนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ
สยามมกุฎราชกุมาร กำหนดจัดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระดับประเทศ ใน 6 จังหวัด โดยจุดหลัก ณ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจุดรอง จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย 1) จังหวัดชัยนาท ณ วัดทรงเสวย ตำบลหนองน้อย อำเภอวัดสิงห์ 2) จังหวัดราชบุรี ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา 3) จังหวัดฉะเชิงเทรา ณ วัดบางไทร ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว 4) จังหวัดขอนแก่น ณ โรงเรียนโนนศิลาวิทยาคาร ตำบลโนนศิลา อำเภอโนนศิลา และ 5) จังหวัดสงขลา ณ ลานวัฒนธรรมเทศบาลตำบลเทพา อำเภอเทพา ซึ่งกำหนดจัดงานพร้อมกันในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 และระดับจังหวัด ใน 71 จังหวัด ทั่วประเทศ กำหนดจัดงานในห้วงระหว่างวันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2567


นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการจัดงานฯ ระดับประเทศ จุดหลัก ณ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายในงานมีกิจกรรมลงนามถวายพระพร พิธีถวายพระพรชัยมงคล แสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กิจกรรมการให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ซึ่งมีคลินิกหลักที่ร่วมให้บริการจำนวน 11 คลินิก ประกอบด้วย คลินิกดิน คลินิกพืช คลินิกข้าว คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย คลินิกหม่อนไหม คลินิกส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อื่นๆ รวมกว่า 30 หน่วยงาน และมี Highlight เป็นกิจกรรมฝึกอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย จากคลินิกส่งเสริมการเกษตร กว่า 10 หลักสูตร เช่น การขยายพันธุ์พืช และการตัดแต่งกิ่งกาแฟ การทำกับดักมอดเจาะผลกาแฟ การล่อรังผึ้งโพรงเข้ารังและการต่อรังชันโรง และการซ่อมแซมเครื่องยนต์ทางการเกษตร เป็นต้น กิจกรรมจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพ ตลาด“ของดีเมืองสามหมอก” (Mae Hong Son Product Champion) ซึ่งเป็นผลผลิต ผลิตภัณฑ์คุณภาพของกลุ่มเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น สินค้าแปรรูปจากกระเทียม งา ถั่วลิสงลายเสือ ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ อโวคาโด ผ้าทอขนแกะ ปลากดหลวงตากแห้ง ขมนพื้นเมืองแม่ฮ่องสอน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหม่อนไหม และสินค้าจาก young smart farmer เช่น ถั่วลิสงลายเสือคั่ว นมถั่วลิสงลายเสือ กาแฟคั่ว เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ อีกมากมาย โดยมีเกษตรกรและผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,300 คน


สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 22 พฤษภาคม 2567 พบว่ามีเกษตรกรลงทะเบียนเพื่อขอรับบริการ จำนวน 55,334 ราย จากเป้าหมาย 30,800 ราย และเข้ารับบริการในคลินิกต่างๆ จำนวน 113,368 ราย จากการดำเนินงานทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนักวิชาการ ข้อมูลทางวิชาการ องค์ความรู้ เทคโนโลยีทางการเกษตรต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ตลอดจนให้บริการได้ถูกต้อง ครบถ้วนตามความต้องการ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทั่วถึงทันเวลา ซึ่งเกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ถูกต้องไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และยังส่งผลให้เกษตรกรเกิดความมั่นคงในอาชีพทางการเกษตรต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้