อธิบดีภาสกร เปิดบ้านดีพร้อม หารือ ผวจ.โทคุชิมะ เร่งผลักดันอุตสาหกรรมไทย - ญี่ปุ่น เตรียมลงนาม MOU เร็ว ๆ นี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

95 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อธิบดีภาสกร เปิดบ้านดีพร้อม หารือ ผวจ.โทคุชิมะ เร่งผลักดันอุตสาหกรรมไทย - ญี่ปุ่น เตรียมลงนาม MOU เร็ว ๆ นี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ให้การต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ
ประเทศญี่ปุ่น พร้อมหารือถึงความร่วมมือส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ระหว่างไทย - ญี่ปุ่น เตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เร็ว ๆ นี้ โดยเน้นผลักดันอุตสาหกรรมศักยภาพสูง อาทิ อุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ อุตสาหกรรมยา และการแพทย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฮบริดอีวี (Hybrid EV : HEV) พร้อมเผยแผนเดินหน้าต่อยอดขยายความร่วมมือ (DIPROM Connection) กับรัฐบาลญี่ปุ่นระดับท้องถิ่น (Local to Local) หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ


นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังจากให้การต้อนรับและร่วมหารือกับ นายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และคณะ ว่า การพบปะและหารือร่วมกันในครั้งนี้ ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือกับจังหวัดโทคุชิมะที่ต้องการต่อยอดความตั้งใจในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของทั้งสองประเทศ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของดีพร้อม RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผ่านกลไกการขยายเครือข่ายความร่วมมือ หรือ DIPROM Connection ด้วยการบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม อันจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยมากยิ่งขึ้น


“ดีพร้อม และจังหวัดโทคุชิมะ มีแนวทางความร่วมมือในการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และ SMEs รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยมุ่งผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมศักยภาพสูงที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน อาทิ อุตสาหกรรมยา และการแพทย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฮบริดอีวี (Hybrid EV : HEV) ที่ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนรายใหญ่เข้าไปลงทุนและตั้งฐานการผลิตในพื้นที่จังหวัดโทคุชิมะแล้วหลายราย ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ของไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ยังคงดำเนินควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาป (ICE) แห่งสุดท้ายของโลก นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุนให้สามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เช่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เครื่องมือแพทย์และเครื่องมือแพทย์สำหรับสัตว์เลี้ยง เครื่องจักรกลการเกษตร ชิ้นส่วนหลังการขาย (Aftermarket) การผลิตชิ้นส่วนทดแทน (REM) อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการบิน และระบบราง เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างครอบคลุม
สมดุล และยั่งยืน”


อธิบดีภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ประเทศญี่ปุ่น ในการยกระดับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีของทั้งสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเน้นความร่วมมือกับรัฐบาลระดับท้องถิ่น (Local to Local) ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไปแล้ว 23 แห่ง โดยในปัจจุบันมีผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่นมาประจำที่โต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ตั้งแต่ปี 2552 - ปัจจุบัน เพื่อสร้างเสริมโอกาสในการแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี - นวัตกรรมการผลิตต่าง ๆ ตลอดจนร่วมกันจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อขยายโอกาสในการเชื่อมโยงธุรกิจในระดับสากล ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท


ทั้งนี้ ดีพร้อม มีแผนที่จะเดินหน้าเจรจาและต่อยอดความร่วมมือ (DIPROM Connection) กับรัฐบาลระดับท้องถิ่น (Local to Local) ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงานเป้าหมายในปีนี้ อาทิ จังหวัดนางาซากิ (Nagasaki) จังหวัดซางะ (Saga) และเทศบาลเมืองซาเซโบะ (Sasebo) ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพภาคอุตสาหกรรมด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ประมง และเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักร โลหะ และเส้นใย ตลอดจนอุตสาหกรรมการต่อเรือ ซึ่งมีความเหมาะสมในการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าของวิสาหกิจชุมชนและอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการระหว่างกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสู่ระดับสากลอันจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไป อธิบดีภาสกรกล่าวทิ้งท้าย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้