“กตป.” จับมือ “ม.ธรรมศาสตร์” ลงพื้นที่ภาคเหนือ - เชียงราย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ศึกษาผลกระทบต่อผู้บริโภคหลัง 2 ยักษ์ค่ายมือถือ ทรู - ดีแทค หลังควบรวมกิจการ

207 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“กตป.” จับมือ “ม.ธรรมศาสตร์” ลงพื้นที่ภาคเหนือ - เชียงราย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ศึกษาผลกระทบต่อผู้บริโภคหลัง 2 ยักษ์ค่ายมือถือ ทรู - ดีแทค หลังควบรวมกิจการ

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่ โรงแรมเฮอริเทจ จังหวัดเชียงราย นางสาวอารีวรรณ จตุทอง  กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) เรื่อง เงื่อนไข/มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายหลังการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) ซึ่งจัดขึ้นโดย วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2566

นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ประกาศต่อสาธารณะว่าการควบรวมเสร็จสมบูรณ์ โดยภายหลังการควบรวมธุรกิจจะทำให้มีฐานผู้ใช้บริการทั้งหมดรวมกันประมาณ 55 ล้านเลขหมายจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งหมดราว 120 ล้านหมายเลข ซึ่งการควบรวมนี้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมไทย โดยเฉพาะในด้านการแข่งขัน เพราะลดจำนวนผู้ให้บริการหลักเหลือเพียง 2 ราย คือ TRUE และ AISเนื่องจากผู้ใช้บริการของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT นั้นมีเพียงประมาณ 3 ล้านเลขหมาย ขณะที่ผู้ใช้บริการของ MVNO: Mobile Virtual Network Operators (หรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบการและโครงข่ายเป็นของตัวเอง) ทั้ง 8 รายรวมเป็นเพียง 4 หมื่นเลขหมาย ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงได้มีการกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะทั้งก่อนและหลังการควบรวม เพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่เกิดจากการแข่งขันที่ลดลง ซึ่งอาจจะสร้างผลเสียต่อตลาดโทรคมนาคมไทย ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม

โดยการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในครั้งนี้ “วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ จะดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ เพื่อนำไปวิเคราะห์ ประเมินผล และจัดทำรายงานประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2566 โดยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ โดยรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้บริโภค เกี่ยวกับเงื่อนไข/มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายหลังการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทค

 

“ดิฉันเชื่อมั่นว่าทุกข้อเสนอแนะ และทุกความเห็นได้จากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ การรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบโทรคมนาคมให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดแก่ผู้บริโภคตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้” นางสาวอารีวรรณ กล่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้