212 จำนวนผู้เข้าชม |
นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานเปิดการสัมภาษณ์กลุ่มย่อย (Group Interview) เรื่อง เงื่อนไข/มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายหลังการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) และ การแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน ซึ่งจัดขึ้นโดย วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2566
นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กล่าวว่า ขณะนี้ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่ต้องเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูล มี 2 เรื่อง 1. เรื่อง เงื่อนไข/มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายหลังการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมไทย โดยเฉพาะในด้านการแข่งขัน เพราะลดจำนวนผู้ให้บริการหลักเหลือเพียง 2 ราย ดังนั้น กสทช. จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม เพื่อที่จะลดความเสี่ยงอันเกิดจากการแข่งขันที่ลดลงซึ่งอาจจะสร้างผลเสียต่อตลาดโทรคมนาคมไทย ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม และ 2. เรื่องการแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน ซึ่งปัญหานี้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายหน่วยงานจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาและหามาตรการป้องกันภายใต้บทบาทและกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ทาง กตป.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงได้มอบหมาย วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2566 เพื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูล และประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
“วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ จะดำเนินการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ เพื่อประเมินผลนโยบาย กสทช. ที่สำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการสัมภาษณ์กลุ่มย่อย (Group Interview) ในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการรวบรวมข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้บริโภค เท่านั้น โดยทาง “วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จะดำเนินการในอีก 2 ระดับ คือ การสนทนากลุ่ม (Focus Group) และ การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) เพื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และจัดทำรายงานต่อ กตป. ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ของ กสทช.ต่อไป