209 จำนวนผู้เข้าชม |
“กรมเจ้าท่า” เร่งปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยการเดินเรือ รองรับกิจกรรมทางน้ำที่ขยายตัวจากการเปิดประเทศ เดินหน้าติดตั้งอุปกรณ์ช่วยการเดินเรือ ลดอุบัติเหตุการสัญจรทางน้ำ ทั้งการติดตั้งทุ่นเครื่องหมายการเดินเรือ หลักไฟ ป้ายเครื่องหมายการเดินเรือ กำหนดความชัดเจนให้คนเรือ และสร้างความเชื่อมั่นผู้ใช้บริการ
นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้วางแผนเชิงรุกในการเร่งดำเนินการและการกำกับการดูแลด้านความปลอดภัยในการเดินเรือให้มีประสิทธิภาพสอดรับกับกิจกรรมทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้บริการสูงขึ้น ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 และการประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงการขนส่งทางน้ำเชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวจากการส่งออกของประเทศ
ดังนั้นในแผนการดำเนินงาน ด้านความปลอดภัยในการเดินเรือและการสัญจรทางน้ำ ได้กำหนดให้มีการจัดหาอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสม ในการติดตั้งเครื่องช่วยการเดินเรือ หรืออาณัติสัญญานที่ได้รับการออกแบบเป็นอุปกรณ์ ระบบ หรือการให้บริการที่อยู่ภายนอกตัวเรือ ที่ประกอบไปด้วย 1.ทุ่นเครื่องหมายการเดินเรือ (Lighted-Buoy) ,ทุ่นปากร่อง,ทุ่นไฟขอบร่อง,ทุ่นไฟแสดงที่หมายพิเศษ 2.หลักไฟเครื่องหมายการเดินเรือ ในการติดตั้งไม่ว่าจะเป็นหลักไฟขอบร่อง,หลักไฟปลายสันเขื่อน,หลักไฟแสดงที่หมายอันตราย 3.หลักไฟนำ 4.ทุ่นเครื่องหมาย และ5.ป้ายเครื่องหมายการเดินเรือ
“การเดินเรือหรือการจราจรทางน้ำได้กำหนดเป็นแผนปฏิบัติการ ในปี2565 ที่จะเร่งจัดหา ติดตั้งอุปกรณ์นำร่อง และการบำรุงรักษาเครื่องช่วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย รวมถึงชายฝั่งและเกาะในประเทศตามพรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย และให้เป็นตามมาตรฐานของสมาคมประภาคาร และเครื่องช่วยการเดินเรือระหว่างประเทศ IALA (International Association of Marine aids to Navigation and Lighthouse Authorities) เพื่อความพร้อมของไทยในการรองรับการใช้บริการทางน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องเข้มข้นในด้านความปลอดภัย และความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ” นายสมพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมเจ้าท่าในฐานะหน่วยงานด้านการกำกับดูแล ด้านความปลอดภัยในการเดินเรือ ได้ดำเนินการตาม มติคณะรัฐมนตรี ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงตาม อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ.1974 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงเตรียมความพร้อมรองรับการตรวจสอบ ของประเทศสมาชิกองค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ ภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) เพื่อประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์ และเครื่องมือเพื่อความปลอดภัย โดยคำนึงถึงปริมาณและความหนาแน่นของการจราจรทางน้ำที่เกิดขึ้น รวมถึงระดับความเสี่ยงของการจราจรในพื้นที่