268 จำนวนผู้เข้าชม |
จากนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า ที่มีภารกิจหน้าที่ในการกำกับ ดูแลรักษาความปลอดภัยทางน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ให้พร้อมบริการ และมีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกระดับความสามารถให้ทัดเทียมนานาประเทศในเรื่องของการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาล บูรณาการเพื่อผลักดันให้เกิดเป็นพลังร่วมกัน
กรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมทางน้ำ ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงโครงข่าย ล้อ ราง เรือ อย่างไร้รอยต่อ ได้ดำเนินงานตามแผนงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการขนส่งทางน้ำ เพื่อตอบสนองเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ.2562-2567 ที่จะพัฒนายกระดับท่าเรือให้เป็นสถานีเรือทั้งในส่วนของท่าเรือ ตัวเรือ ตลอดจนพัฒนาระบบการให้บริการรองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นทั้ง ล้อ ราง เรือ เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทางของประชาชน โดยท่าเรือมีอัตลักษณ์ที่สวยงาม เกิดเป็นแลนด์มาร์ค ส่งเสริม การท่องเที่ยวทางน้ำ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ในการควบคุม และบริหารจัดการบนเรือและท่าเรือ สำหรับเส้นทางเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีต้นทางจากท่าเรือสาทร กรุงเทพมหานคร ไปยังปลายทางที่ท่าเรือปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
กรมเจ้าท่า ดำเนินการตามแผนพัฒนาจำนวน 29 ท่าเรือ ปีงบประมาณ 2562-2563 แล้วเสร็จ จำนวน 3 ท่าเรือ ได้แก่ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ และท่าเรือนนทบุรี ปัจจุบัน ได้ก่อสร้างและปรับปรุงท่าเรือแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือท่าช้าง แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2564 และท่าเรือสาทร แล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2565 อยู่ในแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565 จำนวน 6 ท่าเรือ ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2566 จำนวน 8 ท่าเรือ มีแผนของบประมาณปี 2567 จำนวน 10 ท่าเรือ และมีแผนติดตั้งระบบให้บริการบนท่าเรือทั้งหมด 29 ท่าเรือ ในปี 2566-2567 ในส่วนของตัวเรือ กรมเจ้าท่าร่วมกับผู้ประกอบการเรือโดยสารปรับเปลี่ยนรูปแบบเรือ เป็นแบบพลังงานไฟฟ้าสำหรับให้บริการ เป็นการช่วยลดมลพิษทางน้ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับการปรับปรุงท่าเรือทั้ง 2 ท่า ได้แก่ ท่าเรือท่าช้าง มีขนาดพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่ การปรับปรุงออกเป็น 1. อาคารศาลาพักคอยขนาดพื้นที่ 320 ตารางเมตร จำนวน 2 หลัง 2. โป๊ะเทียบเรือ ขนาด 5 x 10 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 2 โป๊ะ 3. โป๊ะเทียบเรือขนาด 6 x 12 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 4 โป๊ะ ภายหลังการเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ท่าเรือท่าช้าง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางสัญจรทางน้ำได้อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัยตามมาตรฐานที่กรมเจ้าท่ากำหนดไว้
ท่าเรือสาทร เป็นท่าเรือที่มีทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก ก่อนทำการปรับปรุง เดิมท่าเรือสาทรมีสภาพชำรุด ทรุดโทรมตามระยะเวลาและการใช้งาน พื้นที่ใช้สอยยังไม่เป็นสัดส่วน ทำให้ผู้โดยสารที่มาใช้บริการมีความแออัดเบียดเสียดบนท่าเรือ ซึ่งอัตราผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าเรือสาทรในปี 2563 เฉลี่ยต่อวัน 15,236 คน กรมเจ้าท่าเล็งเห็นว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกและความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร จึงได้ทำการปรับปรุงท่าเรือฯ ดังนี้ ปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือขนาด 1,364 ตารางเมตร โป๊ะขนาด 6 x 12 เมตร จำนวน 4 โป๊ะ โป๊ะขนาด 9 x 17 เมตร จำนวน 1 โป๊ะ ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างทางลาดด้านหน้าท่าเรือและปรับปรุงโป๊ะขนาด 6 x 12 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 2 โป๊ะ เพื่อให้สะดวกและสามารถรองรับการเดินทางทางน้ำของประชาชนให้มีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การเปิดท่าเรือท่าช้าง และท่าเรือสาทร อย่างเป็นทางการ ในครั้งนี้ จะสอดรับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่จะพัฒนาการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในการเดินทาง ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น (ล้อ-ราง-เรือ) ได้อย่างไร้รอยต่อ ช่วยลดปัญหาการคับคั่งของการจราจรทางบก ลดระยะเวลาในการเดินทาง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำและสร้างภาพลักษณ์การเดินทางของประเทศต่อไป โดยจะเรียนเชิญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน ในพิธีเปิดในครั้งนี้ พร้อมจัดนิทรรศการ แสดงเส้นทางการเดินเรือ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ออกมาเป็นรูปแบบ Art Gallery ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ รวมถึงวิวัฒนาการของการคมนาคมทางน้ำที่ผูกพันกับคนไทย โดยภายในงานเปิดท่าเรือ ท่าช้าง และ ท่าเรือสาทร จะจัดให้มีการแสดงนิทรรศการที่สื่อถึงความเป็น Center Pier ของท่าสาทรที่เชื่อมโยง การเดินทางของประชาชน ทั้ง 3 รูปแบบ ล้อ ราง เรือ ที่เชื่อมกันอย่างราบรื่น รวมถึงความ Smart ของการใช้บริการบริเวณท่าเรือ ที่เชื่อมต่อกับ Smart Phone หรือ บัตร HOP เข้ากับยุคสังคมไร้เงินสด พร้อมพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ณ ท่าเรือท่าช้าง ที่ปรับปรุงและพัฒนาขึ้น ภายใต้แนวคิด “ท่าเรือ ที่เป็นมากกว่าท่าเรือ” และเป็นท่าเรือ ที่สร้างขึ้นบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางสู่ระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยว ใช้ในการเดินทางทางน้ำ เป็นจำนวนมาก อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง อุโมงค์มหาราช วัดระฆังโฆสิตารามฯ ท่าน้ำศิริราช (วังหลัง) ฯ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือสาทร และท่าเรือท่าช้าง จะสามารถรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จากการเปิดประเทศและการเปิดภาคการศึกษา ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา