สมาคมเพื่อนชุมชนชู “วัดทับมา” ต้นแบบวัดเชิงนิเวศ ใช้ไส้เดือนจัดการขยะผลิตปุ๋ยอินทรีย์สร้างรายได้ชุมชน

241 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สมาคมเพื่อนชุมชนชู “วัดทับมา” ต้นแบบวัดเชิงนิเวศ ใช้ไส้เดือนจัดการขยะผลิตปุ๋ยอินทรีย์สร้างรายได้ชุมชน

นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน ก่อตั้งจากความร่วมมือของ 5 ผู้ประกอบการในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ( กลุ่ม ปตท. เอสซีจี บีแอลซีพี กลุ่ม บ. ดาวประเทศไทย และจีพีเอสซี )  ปัจจุบันมีสมาชิก รวม 17 กลุ่มบริษัท กล่าวว่า ความสำเร็จในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมเพื่อนชุมชน ที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ การดูแลสิ่งแวดล้อม และการสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและชุมชน ในการพัฒนาต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ชุมชนเชิงนิเวศ โรงเรียนเชิงนิเวศ และวัดเชิงนิเวศ  เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆในอนาคต ร่วมกันเป็นเครือข่ายตามเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ในการสร้าง “บ้านเราน่าอยู่ สังคมยั่งยืน” สู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ในระดับสูงสุด หรือระดับ “Happiness” ในพื้นที่จ.ระยอง



“ในส่วนของการพัฒนาต้นแบบวัดเชิงนิเวศ  วัดทับมา อ.เมือง จ.ระยอง เป็นความคืบหน้าที่สมาคมฯได้เข้าร่วมดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัดในมิติต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยสมาคมฯ ได้เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ มาให้คำแนะนำในการพัฒนาเป็น “วัดเชิงนิเวศ” โดยวัดทับมา ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่การบริหารจัดการขยะ การตั้งธนาคารขยะพลาสติก และการมีส่วนร่วมของชุมชน และได้เล็งเห็นประโยชน์ของการเลี้ยงไส้เดือน เนื่องจากวัดมีต้นไม้ปลูกอยู่จำนวนมาก จึงมีแนวคิดการต่อยอดการจัดการขยะ โดยการเลี้ยงไส้เดือน จากการนำเศษอาหารที่เหลือจากการทำบุญมาเป็นวัตถุดิบในการเพาะเลี้ยง โดยผสมกับต้นกล้วยสับเป็นชิ้นๆ ผสมกับมูลโคนำมาเลี้ยงเป็นอาหารไส้เดือน ซึ่งจะได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนไปใส่ต้นไม้ และมีการนำไส้เดือนไปปล่อยโคนต้นไม้ เพื่อให้ดินมีความสมบูรณ์จากปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยลดปริมาณขยะที่มีอยู่ในวัดให้น้อยลง ส่วนปุ๋ยที่เหลือจากการใช้ในวัดได้แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปใช้สำหรับปลูกพืชผักสวนครัว ต้นไม้ ต่อไป” นายมนชัย กล่าว



ปัจจุบัน ทางวัดได้ตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้การจัดขยะครบวงจรกระบวนการแบบ ROSES (การพัฒนาชุมชนสู่การเป็นต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน) โดยการเลี้ยงไส้เดือน นำปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง  นับเป็นความสำเร็จของความร่วมมือ ทั้งจากสมาคมฯ หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชน สามารถพัฒนาให้ชุมชนมีการบริหารจัดการขยะ และพร้อมขยายผลพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้