291 จำนวนผู้เข้าชม |
Dow เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 125 ปี โดยพัฒนาและผลิตวัสดุด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรม สารเคลือบผิว และซิลิโคน ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง ยานยนต์ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า (EV) และสินค้าอุปโภคบริโภค
การพัฒนาเยาวชนและบุคลากรเพื่อมุ่งสู่การเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเป็นสิ่งที่ Dow ได้ให้การส่งเสริมมาโดยตลอด จึงได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมเคมีมหาบัณฑิต แขนงการประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรม ซึ่งจะควบรวมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมเข้ากับเนื้อหารายวิชา โดยส่งวิศวกรมากประสบการณ์มาร่วมบรรยายพิเศษให้กับนิสิตตลอด 4 เดือน (มกราคม–เมษายน 2565) ใน 2 รายวิชาหลัก ได้แก่ “การวิเคราะห์และการปรับปรุงกระบวนการ (Process Analysis and Improvement)” และ “การทำงานของกระบวนการ (Process Operations)” พร้อมกับมอบหัวข้อการทำวิจัยที่จะช่วยตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการผลิตของไทย
นายเดชา พาณิชยพิเชฐ ผู้อำนวยการโรงงาน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 55 ปี และในปัจจุบันโรงงานในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ Dow ในเอเชียแปซิฟิก เรามีองค์ความรู้มาตรฐานความปลอดภัย และการดำเนินงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจที่ Dow ได้มีโอกาสส่งต่อความรู้ ประสบการณ์ วิธีการปฏิบัติงาน และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับคนไทย เพื่อร่วมสร้างวิศวกรเคมีชาวไทยที่เชี่ยวชาญและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป”
ผศ.ดร.รุ่งทิวา เมธาอาภานนท์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหนึ่งในภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ เราจึงตั้งใจที่จะพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิตเพื่อให้มีศักยภาพและความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้จริง ช่วยลดเวลาฝึกอบรมก่อนเริ่มการทำงาน การได้รับฟังประสบการณ์ตรงจากวิศวกรของ Dow ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาและปรับใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าทั้งในไทยและทั่วโลก จึงเป็นประโยชน์อย่างมากแก่นิสิต และยกระดับบุคลากรทางวิศวกรรมเคมีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลกต่อไป”