183 จำนวนผู้เข้าชม |
กรมชลประทาน จัดสื่อสัญจร โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จังหวัดอุดรธานี
เมื่อเร็วๆ นี้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จังหวัดอุดรธานี
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เล็งเห็นถึงปัญหาและมีการวางแผนแก้ไขบรรเทาปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการศึกษาการจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2558 และจากการประชุมร่วม กรอ. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เมื่อปี พ.ศ.2561 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน และตอนกลาง และได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ไปเร่งรัดดำเนินการ
สำหรับ โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จังหวัดอุดรธานี กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่มีความสำคัญเร่งด่วน ซึ่งมุ่งเน้นในการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การพัฒนาลุ่มน้ำและพื้นที่ชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม 5 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุดรธานี , อำเภอกุดจับ และอำเภอหนองวัวซอ ประกอบด้วย โครงการอาคารบังคับน้ำบ้านโนนสว่าง พื้นที่ชลประทาน 13,463 ไร่ , โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านขอนยูงน้อย พื้นที่ชลประทาน 6,787 ไร่, โครงการอาคารบังคับน้ำห้วยเชียง 2 พื้นที่ชลประทาน 3,715 ไร่ , โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยยางล่าง พื้นที่ชลประทาน 5,321 ไร่ และ โครงการบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว
ซึ่งหากดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ข้างต้น จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 29,286 ไร่ ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด มีความยั่งยืน ตอบสนองต่อการพัฒนา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อันจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น