171 จำนวนผู้เข้าชม |
กรมชลประทาน ลงพื้นที่ปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางที่มีอยู่ในพื้นที่ จ.น่าน นำเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพจัดการน้ำครอบคลุมกว่า 4 หมื่นไร่ เพื่อเกษตรกรยั่งยืน
กรมชลประทาน ลงพื้นที่ จ.น่าน ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขต จ.น่าน 12 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่รับผลประโยชน์ 46,550 ไร่ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ลดน้ำสูญเสีย เพิ่มน้ำต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนสู่การพัฒนาโครงการให้มีความทันสมัย โดยนำระบบบริหารจัดการดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการป้อนน้ำถึงมือเกษตรกร พร้อมส่งเสริมภาคการเกษตรในพื้นที่สู่การเป็น SMART FARM สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ นายศุภชัย พินิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 2 นำคณะสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ลงพื้นที่ฝายสมุน ต.สะเนียน อ.เมืองน่าน จ.น่าน ติดตามความคืบหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขต จ.น่าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ แก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อุทกภัยให้สอดคล้องกับสภาพสังคม การเพาะปลูกและกิจกรรมการใช้น้ำประเภทต่างๆ โดยได้กำหนดแผนการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำขอบเขตการศึกษา ได้แก่ โครงการชลประทานขนาดกลาง จำนวน 12 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 9 ลุ่มน้ำสาขา ใน 8 อำเภอ รวมปริมาณกักเก็บน้ำได้ 31.3 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 46,550 ไร่ ประกอบด้วย อ.เชียงกลาง ได้แก่ ฝายน้ำกอน อ.ปัว ได้แก่ ฝายน้ำปัว ฝายน้ำย่าง อ.ท่าวังผา ได้แก่ ฝายน้ำยาวพร้อมระบบส่งน้ำ อ่างเก็บน้ำน้ำริมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สันติสุข อ่างเก็บน้ำน้ำพงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมือง ฝายสมุน อ.ภูเพียง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยแฮต อ.เวียงสา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยชื่น อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำฮิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฝายสา และ อ.นาน้อย ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำแหง
โครงการชลประทานขนาดกลางในเขต จ.น่าน ได้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 โครงการส่วนใหญ่มีอายุใช้งานมากกว่า 35 ปี แม้ได้ดำเนินการดูแลบำรุงรักษาตลอดเวลาระยะเวลาดำเนินการ รวมทั้งสภาพความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อาคารหัวงานของโครงการเดิมไม่สามารถรองรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ กรมชลประทานจึงได้กำหนดให้มีการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน ตามนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทานที่ก่อสร้างใช้งานมานานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและประหยัดน้ำ เพื่อให้มีแผนการปรับปรุงโครงการชลประทานให้มีความทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทาน สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำที่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและประเทศ และมีการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลด้านน้ำ สามารถใช้วางแผนการจัดส่งน้ำให้ถึงมือประชาชนอย่างเพียงพอและสอดรับกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ งานศึกษาได้ทำการสำรวจศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาระบบชลประทานในเชิงวิชาการ รวมทั้งระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำ นำข้อมูลมาบูรณาการจัดทำแผนหลักการปรับปรุงโครงการชลประทานและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสำหรับทั้ง 12 โครงการชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหา เพิ่มน้ำต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพระบบ ประกอบด้วย แผนงานด้านแหล่งน้ำต้นทุน แผนงานปรับปรุงอาคารหัวงาน แผนงานปรับปรุงระบบส่งน้ำ และแผนงานปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำ รวม 123 โครงการ นำระบบโทรมาตรควบคุมทางไกลและระบบ Internet of Things (IoT) มาใช้สร้างระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ ติดตามควบคุมการส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพ ส่งน้ำได้ตรงความต้องการใช้น้ำ ทั่วถึงและเป็นธรรม ลดน้ำสูญเสีย ลดความขัดแย้ง และแก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลน นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) สร้างผลผลิตมูลค่าสูงที่ตลาดต้องการ ประหยัดน้ำและต้นทุนการผลิต เชื่อมโยงเกษตรกรกับตลาด นายศุภชัยฯ กล่าว
จากแผนหลักการบริหารจัดการน้ำ และแผนการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน 12 โครงการ ได้ประเมินประสิทธิภาพและจัดลำดับความสำคัญคัดเลือกโครงการมาศึกษาความเหมาะสมเพื่อศึกษารายละเอียด วิเคราะห์ รูปแบบ วิธีการปรับปรุงโครงการให้สามารถใช้น้ำจากโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ได้แก่ โครงการฝายน้ำกอน โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำพงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการฝายสมุน โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแฮต โครงการฝายสา และโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำแหง
เมื่อปรับปรุงโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้การใช้น้ำชลประทานได้เต็มศักยภาพมากขึ้นจากปริมาณน้ำที่มีเสถียรภาพ ซึ่งทำให้เกิดผลประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมที่ “ผลิตมาก แต่สร้างรายได้น้อย” ไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่“ผลิตน้อย แต่สร้างรายได้มาก” และการใช้การตลาดนำการผลิต ซึ่งจะสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคการเกษตรในอนาคต และสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงขึ้น