263 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 16.30 น. นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เป็นประธาน การแถลงข่าวฯ พร้อมด้วย นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พลเรือโท พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ ๑ /ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พลเรือโทปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ / เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ทัพเรือภาคที่ 1 นายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 กรมควบคุมมลพิษ ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายธีรพล ประภากร นายกสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคุณโรเบิร์ต โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คุณพงษ์กรณ์ ช่อชูวงศ์ ฝ่ายบริหารระบบความปลอดภัย คุณภาพสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย กรรมการผู้จัดการบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมไพฑูรย์ เคียงทะเล รีสอร์ท ถนนหาดแม่รำพึง ตำบลบ้านเพ จังหวัดระยอง
กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ในฐานะศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (ศูนย์ประสานงานฯ) ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (แผนชาติ) ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้ประสานกับกองทัพเรือจัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (ศูนย์ควบคุมฯ) โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนชาติ อาทิ กองทัพเรือ กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จังหวัดระยอง สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG ) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ได้เข้าพื้นที่ปฏิบัติงานขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ตั้งแต่วันพุธที่ 26 มกราคม 2565 โดยได้บูรณาการเรือและกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และเครื่องมือ จากหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ป้องกันน้ำมันเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่ง โดยปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการใช้น้ำยาขจัดคราบน้ำมัน ประมาณ 80,000 ลิตร ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ โดยการปฏิบัติงานถึงวันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2565) รวมระยะเวลา 10 วัน
ในการติดตามสถานการณ์ของน้ำมันในทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า ได้บูรณาการเรือและกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และเครื่องมือ จากหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ลาดตระเวนพื้นที่ และตรวจสอบจากภาพถ่ายจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ประกอบด้วย โซน A (บริเวณกองพันทหารราบที่ 7 ถึง ศูนย์วิจัยกรมประมง ระยะทาง 2 กิโลเมตร) โซน B (บริเวณศูนย์วิจัยกรมประมง ถึงหาดแม่รำพึง ระยะทาง 2 กิโลเมตร) โซน C (บริเวณหาดแม่รำพึง ถึง ลานหินขาว ระยะทาง 2 กิโลเมตร)โซน D (บริเวณลานหินขาว ถึงเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด ระยะทาง 2 กิโลเมตร) โซน E 1 (บริเวณเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด) และโซน E 2 (บริเวณเกาะเสม็ด)ในการนี้ กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยอง ได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้ระมัดระวังการเดินเรือบริเวณทุ่นท่าเทียบเรือ SPM จังหวัดระยอง พร้อมสั่งระงับการใช้งานทุ่นเทียบเรือ SINGLE POINT MOORING (SPM) จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จ พร้อมแจ้งประกาศกรมเจ้าท่าทั้ง 4 ฉบับ เพื่อถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ได้แก่
1. ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 134/2564 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กำหนดมาตรการความปลอดภัย การป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน เคมีภัณฑ์ และสารที่เป็นอันตรายประจำท่าเรือ
2. ประกาศกรมเจ้าท่าที่ 135 /2564 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เปลี่ยนแปลงแบบรายการตรวจสอบความปลอดภัยประจำท่าเทียบเรือ (Terminal Audit Checklist)
3. ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 136/2564 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กำหนดแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำท่าเรือ เพื่อป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน เคมีภัณฑ์ และสารที่เป็นอันตราย
4. ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 137/2564 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กำหนดให้ท่าเทียบเรือรับส่งคนโดยสาร และท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าต้องจัดให้มีสิ่งรองรับของเสียจากเรือ (Reception Facilities)
เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลในน่านน้ำไทย บริเวณทุ่นเทียบเรือน้ำลึก SINGLE POINT MOORING (SPM) สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างร้ายแรง ส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมแก้ปัญหาและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันดังกล่าว ซึ่งต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวโดยเคร่งครัด หากมีการฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามประกาศ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยอง อาจพิจารณาดำเนินการตามนัยมาตรา 46 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนแผนการฟื้นฟู และเยียวยา คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) จะทำการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน อาศัยอำนาจตามข้อ 10(5) และ (8) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ประกอบกับข้อ 13 ของแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมปฏิบัติการ อีกทั้งความเสียหายของพื้นที่ชายฝั่ง และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน มีการกำหนดหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส ในพื้นที่ที่เกิดความเสียหายจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัด SPRC และช่องทางอื่นๆ ตลอดจนติดตามผลการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหาย การฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม จังหวัดระยองได้ดำเนินการจัดตั้งจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีพบคราบน้ำมัน ณ บริเวณชายหาด บ้านสบาย สบาย รีสอร์ท ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินการ ได้แก่ ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดระยอง
สำหรับช่องทางในการติดต่อและการแจ้งประสานงานเพิ่มเติม ได้แก่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดระยอง อำเภอเมืองระยอง องค์การบริหารส่วนตำบลตะพง บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร เมืองระยอง - ศูนย์ประสานงานฯ (กรมเจ้าท่า) แจ้งเหตุ และข้อร้องเรียนผ่านสายด่วนกรมเจ้าท่า 1199
- ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดระยอง หมายเลข 038-694007 หรือ สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567
- ศูนย์บริษัท SPRC ตั้งขึ้น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ หมายเลข 081-5701987